โดย ดร.จุฑามาศ กลิ่นโซดา และ นางสาวภัทรวดี แสนวงษ์ไชยา
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
ในโลกปัจจุบันมนุษย์ office ทำงานวันละ 8 -10 ชั่วโมง เวลาส่วนใหญ่ของวันจึงหมดไปกับการทำงาน ด้วยวิถีชีวิตและการทำงานที่ต้องรีบเร่งและรับประทานอาหารสำเร็จรูปหรืออาหาร fast food ทำให้มนุษย์ office ส่วนมาก เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ office ที่ทำงานหนัก ใช้สายตาในการจ้องหน้าจออิเล็กทรอนิกส์หรือนั่งอยู่กับที่นานๆ จะมีปัญหาทางสายตา มือชา นิ้วล็อค โรคอ้วน โรคเครียด และการพักผ่อนน้อยหรือนอนไม่หลับ จึงเป็นพฤติกรรมเสี่ยงโรค NCDs [1]
วิธีการป้องกันหรือรักษาการเกิดโรค NCDs สามารถทำได้ การเลือกรับประทานอาหารและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือการเลือกรับประทานอาหารเสริม จะช่วยในการส่งเสริมการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งชาวมนุษย์ office ควรเลือกรับประทานอาหารและอาหารเสริมให้เหมาะสมกับความต้องการได้ดังนี้
- อาหารบำรุงสายตา : ผักและผลไม้ ปลา ไข่ อุดมไปด้วยวิตามิน กรดไขมันโอเมก้า 3 และลูทีนที่จะช่วยบำรุงสายตา และช่วยชะลอความเสื่อมของตา [2]
- อาหารบรรเทาความเครียด : ผักและผลไม้ อาหารหมักดอง กิมจิ โยเกิร์ต ที่มีโปรไบโอติก เป็นแหล่งอาหารที่มีส่วนช่วยในการบรรเทาความเครียดได้
– โปรไบโอติกช่วยในอาการนอนไม่หลับและลดระดับของ myeloperoxidase ทำให้สามารถควบคุมการผลิตอนุมูลอิสระที่นำไปสู่ความเครียดได้ [3]
– ผักและผลไม้ ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ และลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisal) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียด [4]
- อาหารบำรุงประสาท เช่น อาการเหน็บชา : ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เนื้อหมู นม ไข่ มีวิตามินบี1 และบี12 ช่วยบำรุงประสาท กล้ามเนื้อ ป้องกันโรคเหน็บชา ชาตามนิ้วมือ นิ้วเท้า และส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง [5]
- อาหารตัวช่วยระบบย่อยอาหาร : ธัญพืช ผักใบเขียว ผลไม้ ปลา โปรไบโอติก มีสารอาหารจำพวกใยอาหาร เอนไซม์ปาเปน (Papain) โอเมก้า 3 จึงช่วยป้องกันท้องผูก ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ และรักษาสมดุลของแบคทีเรียลดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร [6]
- อาหารควบคุมน้ำหนัก : เบอรี่ ข้าวกล้อง อะโวคาโด ปลา ประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นแหล่งของใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย ชะลอการดูดซึมไขมันและย่อยช้าทำให้อิ่มนานขึ้น [7] โปรไบโอติกดีต่อการย่อย และสามารถควบคุมความอยากอาหาร ลดน้ำหนักได้อย่างมาก [8]
แม้ว่าการรับประทานอาหารเสริมจะช่วยในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ให้แก่กับมนุษย์ officeได้ แต่เราก็ควรรับประทานในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการการรับประทานอาหาร การนอน และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย
เอกสารอ้างอิง
[1] ผศ.นพ.อนุชาติ มาธนะสารวุฒิ โรค NCDs คืออะไร. คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา : https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/hilight-news/3830/
[2] โรงพยาบาลไทยนครินทร์. 2566. อาหารบำรุงสายตา. [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา :https://thainakarin.co.th /อาหารบำรุง-สายตา/.
[3] Majeed, M., Nagabhushanam, K., Arumugam, S., Majeed, S., Ali, F. Bacillus coagulans MTCC 5856 for the management of major depression with irritable bowel syndrome: A randomised, double-blind, placebo controlled, multi-centre, pilot clinical study. Food Nutr. Res. 2018, 62.
[4] โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณ. 2564. อาหารแบบไหน ช่วยคลายความเครียด. [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา : https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-for-relaxation
[5] BMDS, 2566, อาหารแก้เหน็บชา, [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา: https://www.pptvhd36.com/health/food/2974
[6] POBPAD, 2566, อาหารบำรุงระบบย่อยอาหาร กินอย่างไรให้สุขภาพดี, [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา : https://www.pobpad.com /อาหารบำรุงระบบย่อยอาหาร.
[7] ทัตพร อิสสรโชติ, 2565, การป้องกันโรคอ้วน เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน, [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา :https://hellokhunmor.com/โภชนาการเพื่อสุขภาพ/โรคอ้วน/การป้องกันโรค อ้วน-เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน/
[8] Xiao, J., Kondo, S., Takahashi, N., Miyaji, K.,Oshida, K., Hiramatsu, A., Iwatsuki, K., kOKUBO, s., and Hosono, A. Effects of milk products fermented by Bifidobacterium longum on blood lipids in rats and healthy aduit male volunteers. Journal of Dairy Science. 2003;86(7), 2452-2561.