เข้าใจมุมมองที่แตกต่างด้วยปรัชญา “สามทัศน์“ (ซานกวน)
องค์กรหรือสังคมต่างๆ เป็นสถานที่รวมกันของคนจำนวนนับไม่ถ้วน ความหลากหลายนี้ก่อให้เกิด “มุมมอง” ที่แตกต่างกัน ยังส่งผลให้แต่ละคน “ให้ความสำคัญ” กับสิ่งต่างๆ ไม่เท่ากันอีกด้วย
ปรัชญาจีนได้อธิบายมุมมองที่แตกต่างกันเหล่านี้ด้วย “ปรัชญาสามทัศน์”(三观:ซานกวน)
ความหมายตามตัวอักษรนั้นคือ
三 (ซาน) คือ ตัวเลข หรือ จำนวนนับ สาม
观 (กวน) คือ การมองเห็น มุมมอง ทัศนคติ
เมื่อรวมกัน “ซานกวน” จึงหมายถึง ทัศนคติสามด้าน นั้นเอง
โดย ซานกวน ได้จำแนกทัศนคติที่สำคัญของมนุษย์ออกเป็นด้านใหญ่ๆ 3 ด้าน
ที่มีอิทธิพลในความคิด ความรู้สึก ซึ่งแน่นอนว่าสะท้อนออกมาในรูปของการแสดงออก และการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบไปด้วย
ทัศนคติต่อชีวิต (人生观:เหรินเซิงกวน)
หมายถึง มุมมองที่มีต่อชีวิต ความเชื่อ สิ่งที่ยึดถือ ของคนเรา
จำแนกได้เป็น คุณธรรม (仁:เริ้น),ยุติธรรม (义:อี้),เคารพ (礼:หลี่),ปัญญา (智:จือ),ความเชื่อ (信:ซิ่น) ทัศนคติต่อชีวิตนี้มีส่วนที่เป็นทั้ง “ทัศนคติสากล” และ “ทัศนคติสังคม” อยู่ เป็นต้นว่า โดยพื้นฐานแล้วองค์กรต้องการคนที่ดี มีคุณธรรม รู้ถูกรู้ผิด ประพฤติตัวตามกฎระเบียบ และไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็น “กฎสากล” ที่ยอมรับโดยทั่ว แยก “ถูก” และ “ผิด” อย่างชัดเจน นับเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของการคัดเลือกบุคลากร
ส่วน “ทัศนคติสังคม” นั้นแตกต่างไปตามวัฒนธรรม สังคม และตามแต่ วัฒนธรรมของแต่ละองค์กร ซึ่งหล่อหลอมโดยผู้บริหาร และคนหมู่มากในองค์กร เช่น วัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโส การยกย่ององค์ความรู้แขนงต่างๆ ความเชื่อตามหลักศาสนา มุมมองทางการเมือง ต่างๆ ซึ่งนับเป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา
ในฐานะขององค์กรแล้ว จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจ และแยกแยะ “ทัศนคติสากล” และ “ทัศนคติสังคม” ให้ได้ และยอมรับว่า “ทัศนคติสังคม” เป็นเพียงความแตกต่าง ซึ่งหากพบในองค์กรแล้วควรมีการทบทวนว่าทัศนคติดังกล่าวขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่ หากใช่ก็ควรขจัดหรือขัดเกลาให้หายไป หากไม่ใช่แล้วก็ต้องมีการยอมรับในมุมมองที่มีความแตกต่าง และแยกทัศนคติเหล่านี้ออกจากการทำงานร่วมกัน
ทัศนคติต่อโลก, โลกทัศน์ (世界观:ซื่อเจี้ยกวน)
หมายถึง มุมมองที่มีต่อ สิ่งรอบตัว ผู้คนรอบตัว สังคม โลก และจักรวาล ทั้งที่มีและไม่มีตัวตน
ผู้คนที่มีปูมหลังแตกต่างกันย่อมมีมุมมองที่ต่างกันในการสังเกตปัญหา นำไปสู่การคิดค้นทฤษฎีมาอธิบายหรือการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน
มุมมองที่มองโลก ต่างกันนี้เกิดมาจากทั้ง “ปัจจัยภายใน” และ “ปัจจัยภายนอก” โดย “ปัจจัยภายนอก” อาจเป็นผลมาจากตำแหน่งงาน หน่วยงาน แผนก/ฝ่าย สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือช่วงเวลา มุมมองที่องค์กรตีกรอบไว้ให้เหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรกำหนดให้พนักงานได้ “เห็น” (see) ส่วน”ปัจจัยภายใน” นั้นคืออยู่กับปัจเจกบุคคลโดยอาจเป็น “ทัศนคติต่อชีวิต” นั้นเองที่หล่อหลอมให้คนๆหนึ่งสนใจ “มอง” (look) ในสภานการณ์นั้นๆ
อย่างไรก็ตามทัศนคติในการ “มอง” และ “เห็น” ปัญหาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความสามารถในการลำดับ และวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นอีกด้านนึง ในการทำงานร่วมกันในองค์กรหรือโครงการต่างๆ “ทัศนคติต่อโลก” เป็นสิ่งที่ปรับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ง่ายกว่า “ทัศนคติต่อชีวิต” โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ยอมรับการตัดสินใจ ปฏิบัติได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่งเสริมการสื่อสารอย่างทั่วถึงเพื่อให้ทัศนคติต่อโลกนี้ อยู่บนตำแหน่งเดียวกัน มองโลกใบเดียวกัน ก้าวไปพร้อมกัน และบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันทั้งองค์กร
ทัศนคติต่อคุณค่า, ค่านิยม (价值观:เจี้ยจื่อกวน)
หมายถึง มุมมองในการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ
ผู้คนที่มีมุมมองชีวิตและโลกต่างกันย่อมมีการให้มูลค่า ความสำคัญกับสิ่งต่างๆแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้ในการเลือกใช้ ตัดสินใจ ลำดับความสำคัญ ทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่มีตัวตน เช่น เงินทุน สินทรัพย์ กำลังคน และที่ไม่มีตัวตน เช่น เวลา ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ คุณค่าแบรนด์สินค้า ความเสี่ยง ต่างกัน นำมาซึ่ง การไม่เข้าใจการตัดสินใจ การเลือกใช้ทรัพยากร หรือการลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา
ในการวัด “ทัศนคติต่อคุณค่า” ให้ตรงกันในการทำงานนั้นจำเป็นต้องมี “มาตรวัด” ที่ตรงกันเสียก่อน โดยเบี้องต้นสามารถกำหนดจากวัตถุประสงค์ขององค์กรเอง องค์กรธุรกิจสามารถแปลงทรัพยากรต่างๆให้อยู่ในรูปของเม็ดเงินได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ค่าเสียโอกาส ค่าเสื่อมราคา มูลค่าหุ้น มูลค่าแบรนด์ ค่า manhour เงินมัดจำ(แปลงความเสี่ยง) เครดิต จะทำให้เปรี่ยบเทียบคุณค่าได้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนั้นควรมีการส่งเสริมการสื่อสาร การเปิดกว้างทางความคิด และความรู้สึกต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงาน หรือ การบังคับใช้นโยบายโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ เมื่อพนักงานปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจถึงเหตุผลในการทำแล้วก็จะทำงานด้วย “ความเต็มใจ” เพิ่มขวัญกำลังใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
โดยสรุป ความเข้าใจใน “ปรัชญาซานกวน” นี้จะทำให้คนในองค์กรต่างๆ พิจารณาความเห็นที่ต่างกันได้ง่ายขึ้น ด้วยการแบ่งมุมมองด้านต่างๆในระดับปัจเจกบุคคล พร้อมทั้งจำแนกได้ว่า มุมมองแบบใดที่เป็นมุมมองที่พึงประสงค์ ไม่พึงประสงค์ เห็นพ้อง หรือ ขัดต่อบุคคลอื่นหรือ องค์กรหรือไม่
อย่างไรก็ตามความแตกต่างของมุมมองนี้ ด้วยแนวคิดการจัดการความขัดแย้ง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันได้ จะทำให้ภายในทีมสามารถมองเห็นปัญหาได้จากมุมมองรอบด้านมากขึ้น นำไปสู่ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่มากมายกว่า