เชื่อว่าหลายคนเมื่อทำงานได้ในระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีความคิดอยากปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแบบย้ายงานไปยังองค์กรใหม่ หรือปรับเลื่อนตำแหน่งใหม่ในองค์กรเดิมก็ตาม อาจมีคำถามหรือความกังวลที่ว่า เราพร้อมจะเปลี่ยนงานหรือไม่ งานในตำแหน่งใหม่จะเหมาะกับเราไหม แต่หากนำแนวคิดสำคัญอย่าง KSA Model รวมถึงปัจจัยเสริมอย่าง Budget มาลองวิเคราะห์และสำรวจตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจนั้น จะช่วยอะไรเราได้บ้าง?
ความสำคัญของ KSA Model คืออะไร
KSA Model คือ โครงสร้างหรือแนวคิดที่ใช้อธิบายคุณสมบัติของตัวบุคคล ผ่าน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Knowledge, Skills, Attribute และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับการคิด และหาคำตอบในช่วงเวลาที่ต้องการปรับเปลี่ยนหรือย้ายงาน จึงได้เพิ่มส่วนเสริมอย่าง Budget เข้าไป ซึ่งออกมาเป็น KSA Model + B ซึ่งขออธิบายดังนี้
1. ความรู้ (Knowledge) คือ ความรู้ในงาน รวมถึงความเข้าใจจากประสบการณ์ในงานหรือการเรียนจากการทำงานจริง และนำไปใช้ประโยชน์ในการสรุป และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ในการทำงาน ว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เราจะไปทำงานหรือไม่ อาทิ รับสมัครนักวิเคราห์และสถิติ แต่เราจบสังคมศาสตร์ทั่วไป ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้ความสามารถของสถิติ ก็ไม่ควรสมัครเข้าไป
2. ทักษะ (Skills) คือ ความสามารถของบุคคลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทักษะทางด้านร่างกาย สติปัญญาและสังคม เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ การฝึกฝนเครื่องมือ (Tools) ต่างๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการสั่งสมขึ้นมาเรื่อยๆ ของตัวเรา ประกอบด้วย ทักษะวิชาชีพ (Hard Skill) เช่น ทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์, ทักษะการใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ช่างต่างๆ และ ทักษะทั่วไป (Soft Skill) เช่น ทักษะการสื่อสาร, ทักษะการต่อรอง, ทักษะการพูดต่อที่สาธารณะ เช่นนั้นแล้วเราต้องมั่นใจในทักษะที่เราสั่งสมมา ว่าเป็นทักษะสกิลที่สามารถนำไปประยุกต์พัฒนาต่อได้ในตำแหน่งใหม่ที่เราต้องการจะไปได้
3. คุณลักษณะ (Attribute) คือ ความคิด หรือ กรอบแนวคิด ที่จะเป็นตัวกำหนด การกระทำ และ การกระทำ เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะนิสัยของตัวเรา ซึ่งต้องรู้ตนเองว่าเราเป็นคนแบบไหน ชอบทำอะไร หรืองานแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งหากเราตัดสินใจทำงานในทางที่ไม่ใช่และขัดกับความคิด ก็ยากที่เราจะก้าวหน้า หรือประสบความสำเร็จในงานนั้นๆ ได้ดีเท่าที่ควร
4. ค่าตัว/ค่าจ้าง (Budget) คือ งบประมาณค่าจ้างในปัจจุบันของเราอยู่ระดับไหน หากเราโตขึ้นหรือตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนในท้องตลาดเป็นแบบไหน ซึ่งเราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากเวปหางานทั่วไป ว่าเราอยู่ช่วงไหนของตำแหน่ง แล้วเราจะเงินเดือนขึ้นได้ถึงสูงสุดเท่าไรในตำแหน่งเดียวกัน นับได้ว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาเกี่ยวกับรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น KSA Model จะเป็นตัวช่วยเราในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี หากอยากเปลี่ยนงานหรือเลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ควรลองดูคุณลักษณะผ่านทาง Job Description ของรุ่นพี่หรือหัวหน้า ว่างานที่พวกเขาทำอยู่นั้น ต่างจากเราตรงไหน และเราต้องหาความรู้ หรือทักษะอะไรเพิ่มบ้าง เพื่อให้เราสามารถพัฒนาต่อไปได้ ไม่ควรใช้แนวคิดการทำงานแบบอยู่นานหรืออยู่ทน เพื่อรอปรับเงินเดือนประจำปี และเติบโตตามอายุงาน
เมื่อใดที่เราทำงานได้เกินมูลค่า/ค่างาน (Value) เชื่อว่าวันนั้นไม่ว่าเราจะเปลี่ยนตำแหน่งงานในองค์กรที่เราอยู่ หรือออกไปสู่องค์กรภายนอกก็ตาม ทุกที่ย่อมมองเห็นคุณค่าในตัวเราได้อย่างแน่นอน
PIYA VITTAYAVAROTKIT (ปิยะ วิทยาวโรจน์กิจ)
Head of Consulting
CONSYNC Group