บทความโดย ดร.จุฑามาศ กลิ่นโซดา (Dr. Jutamat Klinsoda)
ฝ่ายจุลชีววิทยาประยุกต์ (Department of Applied Microbiology) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Institute of Food Research and Product Development)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University)
ภายใต้สถานการณ์การระบาดใหม่ของโรคโควิด-19 หลายองค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ การทำงานแบบ Work from home (WFH) เป็นมาตรการทำงานหลักเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งปัจจุบันการ WFH ทำให้การประชุมออนไลน์ สามารถจัดได้บ่อยขึ้น กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับหลายๆ คน เพราะไม่ต้องเสียเวลาการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมที่สูงแบบเช่นสมัยก่อนการเกิดโรคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินว่า การทำงานรูปแบบใหม่ส่งผลดี ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้มากขึ้น (Productivity) และเกิดการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Engagement)
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ WFH ที่ไม่มีการพักเบรคที่แน่นอนและประชุมออนไลน์ที่มากเกินไปทำให้เกิดความเหนื่อยล้า (Fatigue) จากการทำงาน และสภาวะทางจิตใจ (Mental issue) [1] มีคนจำนวนมากเกิดความรู้สึกที่เศร้าหมองและหดหู่ เครียด นอนไม่หลับ หรือเกิดอาการ Burnout โดยไม่รู้ตัว
ในการรักษาอาการดังกล่าว การเลือกอาหารเพื่อสุขภาพจิตที่ดี (Food for mental well-being) เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยการหลั่งสารสร้างความสุขได้ เพราะในอาหารประกอบด้วยสารอาหารและสารสื่อประสาท เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป สารสื่อประสาทจะส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้กระตุ้นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับทั้งฮอร์โมนความสุขและฮอร์โมนความเครียด การรับประทานอาหารจึงสามารถช่วยลดหรือเพิ่มความเครียดได้ ดังนั้นวิธีการรักษาอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานแบบ Work from home สามารถทำได้โดยการเลือกอาหารในกลุ่มต่อไปนี้ [2,3]
- อาหารลดอาการซึมเศร้า: อาหารหมัก โยเกิรต์ และโปรไบโอติก• อาหารกลุ่มนี้มีแบคทีเรียโปรไบโอติก มีประโยชน์ต่อร่างกายและจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง (Gut-brain axis) ช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้
- อาหารสร้างอารมณ์ดี ลดความเครียด: ไขมันดีจากปลา ผักและผลไม้ ใยอาหารสูง• ปลา เป็นแหล่งของไขมันดี กลุ่มโอเมก้า 3 ช่วยบำรุงสมอง สามารถลดอาการซึมเศร้าและความเครียด
• ผักและผลไม้ มีวิตามินสูง โดยเฉพาะวิตามินซี และแอนโทไซยานิน จะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอ (cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียด ที่ส่งผลให้ความจำ (working memory) ลดลง
• ผักใบเขียว เป็นใยอาหาร ที่มีกรดโฟลิก ซึ่งเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างสารเซโรโทนิน (serotonin) และโยอาหารบางชนิด สามารถกระตุ้นการทำงานของแบคทีเรียโปรไบโอติก ส่งผลต่ออารมณ์และความสุข - อาหารช่วยการนอนหลับ: ชาดอกคาโมมายล์ เชอรี่ ไข่• อาหารที่มีผลช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) ที่ช่วยให้การนอนหลับ
จะเห็นว่า การรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสภาวะอารมณ์ (food for good mood) สามารถรักษาอาการของสภาวะทางจิตใจ และการนอนหลับพักผ่อน [3] แม้ในวันที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน ทุกคนสามารถใช้วิธีการเลือกรับประทานที่มีประโยชน์เพื่อปรับอารมณ์และจิตใจของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายและสามารถทำได้เอง
References:
[1] Kotera Y, Vione K.C. 2020. Review Psychological Impacts of the New Ways of Working (NWW): A Systematic Review. Int. J. Environ. Res. Public Health. 17: 5080.
[2] Firth J, Gangwisch JE, Borsini A, Wootton RE, Mayer EA. 2020. Food and mood: how do diet and nutrition affect mental wellbeing? BMJ. 369: 2382.
[3] Naidoo U. 2020. This Is Your Brain on Food: An Indispensible Guide to the Surprising Foods that Fight Depression, Anxiety, PTSD, OCD, ADHD, and More. Little Brown and Company
ลิขสิทธิ์โดย CONSYNC GROUP